การจัดทำข้อบังคับฯ
https://members.tripod.com/~PongWeb

หมวดที่ 5
การลา และหลักเกณฑ์การลา


เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานปฏิบัติธุรกิจจำเป็นส่วนตัวได้ในบางโอกาส บริษัทจึงให้พนักงานลางานได้
โดยพนักงานทุกระดับจะต้องขออนุญาตการลาจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง และต้องยื่นใบลาล่วงหน้า
ยกเว้นกรณีจำเป็นและฉุกเฉินโดยแท้จริงพนักงานจะต้องส่งใบลาให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงทันทีที่กลับเข้ามาทำงานปกติ
เพื่อพิจารณาอนุมัติ หากพนักงานหยุดงานไปโดยไม่ได้รับการอนุมัติให้ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว บริษัทถือว่าพนักงานผู้นั้นขาดงาน ซึ่งนอกจากไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ขาดงานแล้ว
และอาจถูกลงโทษทางวินัยด้วยบริษัทกำหนดการลาประเภทต่างๆ ไว้ดังนี้


5.1 ลาป่วย
5.1.1 ในรอบปีปฏิทินหนึ่ง บริษัทอนุญาตให้พนักงานลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างไม่เกินปีละ 30 วันทำงาน
ส่วนการลาป่วยที่เกินกำหนดจะไม่ได้รับค่าจ้าง
5.1.2 พนักงานที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มเวลา
ทำงานของตน หรือในโอกาสแรกที่ทำได้ในวันนั้น กรณีไม่สามารถแจ้งการลาป่วยได้ให้พนักงาน
ยื่นใบลาในวันแรกหลังจากกลับมาทำงานปกติ
5.1.3 พนักงานที่ลาป่วยติดต่อกัน 3 วัน หรือมากกว่า พนักงานจะต้องแสดง ใบรับรองแพทย์แผน
ปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือสถานพยาบาลของทางราชการประกอบการลาด้วย
5.1.4 ในกรณีที่บริษัทจัดแพทย์ไว้ ให้แพทย์นั้นเป็นผู้ออกใบรับรอง เว้นแต่พนักงานไม่สามารถให้
แพทย์ที่บริษัทจัดไว้ให้นั้นตรวจได้
5.1.5 พนักงานที่ลาป่วยจนครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7.1.1 แล้วยังไม่หายจากอาการเจ็บป่วย
หรือยังไม่สามารถทำงานให้กับบริษัทได้ บริษัทอาจพิจารณาให้แพทย์ของบริษัทเป็นผู้ดูแล
เพิ่มเติมตามนโยบายของบริษัท


5.2 ลาป่วยเนื่องจากการทำงานให้บริษัท
5.2.1 พนักงานที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้บริษัท บริษัทอาจอนุญาตให้ลา
หยุดงานได้เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากวันลาป่วยที่กำหนดไว้ในข้อ 7.1.1 โดยไม่นับเป็นวันลา ป่วย
5.2.2 จำนวนวันหยุดเนื่องจากการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยตามข้อ 7.2.1 ให้เป็นไปตามความ
เห็นแพทย์เท่านั้น
5.3 ลาเพื่อทำหมัน


5.3.1 พนักงานมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้ และมีสิทธิลาเนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์แผน
ปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนด และออกใบรับรองแพทย์
5.3.2 ในการขอลาพนักงานต้องขออนุมัติล่วงหน้าโดยใช้แบบฟอร์มที่ บริษัทกำหนดและยื่นต่อผู้บังคับ
บัญชาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วันทำงาน และให้พนักงานยื่นใบรับรองแพทย์ในวันแรกที่กลับเข้า
ปฏิบัติหน้าที่


5.4 ลากิจ
5.4.1 ในรอบปีปฏิทินหนึ่ง บริษัทอนุญาตให้พนักงานลากิจโดยได้รับค่าจ้างปีละไม่เกิน 6 วันทำงาน
5.4.2 การลากิจต้องเป็นกรณีมีกิจธุระจำเป็นอย่างแท้จริง เช่นการติดต่อราชการ 5.4.3 พนักงานต้องยื่นใบลาตามแบบที่กำหนดต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันทำงาน และ
ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องจากผู้บังคับบัญชาแล้วจึงหยุดงานได้
5.4.4 กรณีมีเหตุจำเป็นและฉุกเฉินอย่างยิ่งที่พนักงานไม่สามารถลาล่วงหน้าตามข้อ 7.4.3 ได้
พนักงานต้องรีบหาทางติดต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุญาต และชี้แจงเหตุผล
การลาให้บริษัททราบโดยเร็ว และเมื่อพน้กงานกลับเข้าทำงานปกติแล้ว ต้องรีบดำเนินการตาม
ระเบียบการลาโดยทันที ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจในการอนุญาต
หรือไม่อนุญาตแล้วแต่กรณี
5.4.5 การลากิจที่มีหลักฐานประกอบ พนักงานจะต้องนำหลักฐานการลากิจดังกล่าวแสดงประกอบการ
ลาด้วยทุกครั้ง
5.4.6 การลากิจที่ไม่เป็นไปตามที่บริษัทกำหนดไว้ในข้อ 7.4.1 หากผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรให้ลา ให้
ถือเป็นการลากิจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง


5.5 ลาคลอดบุตร
5.5.1 พนักงานหญิงที่มีครรภ์ มีสิทธิลาคลอดก่อนและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วันรวมวันหยุด
โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 45 วันรวมวันหยุด
5.5.2 พนักงานหญิงที่มีครรภ์ หากมีใบรับรองแพทย์แสดงว่าไม่อาจทำหน้าที่เดิมได้ บริษัทอาจ
พิจารณาโยกย้ายงานให้เป็นการชั่วคราว
5.5.3 การลาหยุดงานเนื่องจากการแท้งบุตร การทำแท้ง หรือโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นในระหว่าง 7
เดือนแรกของการมีครรภ์ ไม่ถือว่าเป็นการลาเพื่อคลอด แต่ถือว่าเป็นการลาป่วย
5.5.4 พนักงานหญิงที่ลาคลอด จะได้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมอีกส่วนหนึ่งด้วย


5.6 ลาเนื่องจากการเรียกระดมพลทางทหาร
5.6.1 พนักงานที่ถูกทางราชการเรียกระดมพล เพื่อการตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลอง
ความพรั่งพร้อม ตามกฏหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร บริษัทอนุญาตให้ลาโดยได้รับค่าจ้าง
เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินปีละ 60 วันรวมวันหยุด
5.6.2 พนักงานต้องแสดงหมายเรียกระดมพล หรือหลักฐานของทางราชการ เพื่อขอลาหยุดล่วงหน้าไม่
น้อยกว่า 3 วัน ต่อผู้บังคับบัญชา เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงหยุดงานได้
5.6.3 เมื่อครบกำหนดการลาแล้ว ให้พนักงานรีบกลับเข้าทำงานโดยเร็ว หากไม่เข้าทำงานหลังครบ
กำหนดการลา 3 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้ว บริษัทอาจพิจารณาเลิกจ้างโดยไม่
ได้รับเงินค่าชดเชย
5.6.4 พนักงานต้องนำหลักฐานที่ผ่านการเรียกระดมพล หรือผ่านการฝึกอบรม มามอบให้บริษัทภายใน
7 วัน นับแต่วันที่เริ่มกลับเข้าทำงาน หากนำหลักฐานมาแสดงไม่ได้ ให้ถือเป็นเป็นการขาดงาน
และอาจถูกพิจารณาลงโทษทางวินัยด้วย


5.7 ลาอุปสมบทหรือประกอบพิธีฮัจย์
5.7.1 พนักงานชายที่ทำงานกับบริษัทติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไปและไม่เคยอุปสมบทมาก่อน หรือผู้ถือ
ศาสนาอิสลามซึ่งยังไม่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
บริษัทอนุญาตให้ลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ได้ไม่เกิน 120 วันรวมวันหยุด โดยได้
รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 30 วันรวมวันหยุด
5.7.2 พนักงานต้องยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันลาอุปสมบทหรือไป
ประกอบพิธีฮัจย์และ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อนจึงหยุดงานเพื่ออุปสมบทได้
5.7.3 การลาอุปสมบทหรือประกอบพิธีฮัจย์นี้ เมื่อได้ลาไปแล้วไม่ว่าจะครบกำหนด 30 วัน หรือไม่ก็
ตาม อนุญาตให้ลาได้ เพียงครั้งเดียวตลอดระยะเวลาการเป็นพนักงานของบริษัท
5.7.4 เมื่อครบกำหนดการลาพนักงานต้องนำหลักฐานการอุปสมบทหรือประกอบพิธีฮัจย์ หรือเอกสาร
อ้างอิงอื่นๆ มามอบต่อบริษัทภายใน 7 วันนับแต่วันเริ่มกลับเข้าทำงาน
5.7.5 พนักงานที่ต้องการลาไปประกอบพิธีทางศาสนาอื่นที่ทางราชการรับรองนอกเหนือจากศาสนา
พุทธและอิสลาม ให้ใช้ระเบียบนี้ได้โดยอนุโลม


5.8 ลาเพื่องานสำคัญภายในครอบครัว
บริษัทอนุญาตให้พนักงานลาเนื่องจากงานสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนา โดยได้รับเงินเดือน ดังนี้
5.8.1 ลาเพื่อประกอบพิธีศพต่อการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว อันได้แก่
5.8.1.1 บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรอันชอบด้วยกฏหมาย 3 วัน
5.8.1.2 ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่น้องแท้ 2 วัน
5.8.2 ลาเนื่องจากงานมงคลสมรสของพนักงานเอง 3 วัน
5.8.3 พนักงานต้องนำหลักฐานมาประกอบการลาต่อผู้บังคับบัญชา


5.9 ลาเนื่องจากประสบภัยพิบัติ
บริษัทอนุญาตให้พนักงานลาเนื่องจากที่อยู่อาศัยบ้านเรือนของพนักงานเองประสบอุทกภัย อัคคีภัย
วาตภัย หรือภัยพิบัติร้ายแรงอื่นๆ จนได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีก
ต่อไปโดยได้รับค่าจ้างปีละไม่เกิน 5 วันทำงาน


5.10 การลาเพื่อศึกษาต่อหรือการฝึกอบรม
เพื่อเป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาและเสริมสร้างความรู้และความสามารถของตน
เอง บริษัทจึงได้กำหนดให้พนักงานลาเพื่อศึกษาต่อ หรือฝึกอบรมตามหลักเกณฑ์ดังนี้


5.10.1 ลาเพื่อศึกษาต่อ
5.10.1.1 บริษัทอนุญาตให้พนักงานที่ทำงานกับบริษัทติดต่อกันครบ 2 ปีขึ้นไปมีสิทธิขอลา
เพื่อการศึกษาต่อได้ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรับรองและ/
หรือบริษัทพิจารณาให้ความเห็นชอบ
5.10.1.2 หลักสูตรที่ศึกษาต้องเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในงาน หรือหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง
5.10.1.3 พนักงานต้องทำการขออนุญาตการลาศึกษาต่อล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ก่อน
การสมัครสอบหรือลงทะเบียนเรียน พร้อมแสดงเอกสารประกอบและต้องได้รับ
อนุญาตโดยถูกต้องจากผู้มีอำนาจอนุมัติแล้วเท่านั้น กรณีไม่มีเอกสารประกอบการ
ขออนุญาต ผู้บังคับบัญชาจะไม่รับพิจารณา เว้นแต่มีเหตุผลที่เชื่อถือได้และต้องนำ
เอกสารมาแสดงเป็นหลักฐานโดยเร็ว
5.10.1.4 บริษัทอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตลาศึกษาต่อ สามารถออกก่อนเวลาได้ตั้งแต่
16.00 น. เป็นต้นไป เฉพาะในวันที่มีการเรียน การทำกิจกรรมทางการศึกษา และ
การสอบ
5.10.1.5 การลาศึกษาต่อ ให้ขออนุญาตทุกภาคเรียน พร้อมแสดงผลการเรียนและเอกสาร
ประกอบด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ให้รวมถึงพนักงานที่เคยได้รับอนุญาตไว้ก่อนหน้าที่
ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้
5.10.1.6 กรณีการลาปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์นี้ บริษัทจะไม่ถือเป็นวันลา แต่
จะนำไปประกอบในการพิจารณาปรับเงินเดือนประจำปี
5.10.1.7 พนักงานที่ลาไปศึกษา หากจบการศึกษาโดยถูกต้องและมีวุฒิการศึกษาสูงกว่าเดิม
(เมื่อเริ่มงาน) บริษัทจะพิจารณาปรับอัตราเงินเดือนให้ตรงตามวุฒินั้นหรืออาจ
พิจารณาให้ตามความเหมาะสม เว้นแต่อัตราเงินเดือนที่ได้รับขณะนั้นสูงกว่าโครง
สร้างเงินเดือนที่บริษัทกำหนดไว้ บริษัทจะพิจารณาตามความเหมาะสม
5.10.1.8 บริษัทสงวนสิทธิในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตได้ตามความเหมาะสมรวมถึงการยก
เลิกการอนุญาต โดยเฉพาะกรณีพิจารณาเห็นว่าผู้ได้รับอนุญาตมีพฤติกรรมไม่เหมาะ
สมหรือการศึกษาไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ


5.10.2 ลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้
บริษัทอนุญาตให้พนักงานลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ ความสารมาถตามหลักเกณฑ์
และวิธีการตามที่กฏหมายกำหนด


5.11 ลาประเภทอื่น
การลาประเภทอื่นไม่ว่ากรณีใดนอกเหนือจากที่ระบุไว้ ให้เสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือผู้ที่ได้รับมอบ
หมายเป็นกรณีไป


Go to top
Menu | Previous | Next

การจัดทำข้อบังคับฯ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
by Suttipong Duanglertvisetkul
e-mail me : pong_10@hotmail.com
ICQ : UIN 13381694

click